วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การเดินทางของโสเภณี







การเดินทางของโสเภณี
"Tom Tom Where you go last night. I love เมืองไทย I like พัฒน์พงษ์ น้องนางคงทำให้ทอมลุมหลง I love พัฒน์พงษ์ I love เมืองไทย" เสียงเพลงของคารบาวครวญมาตามคลื่นวิทยุ ทำให้ฉันเกิดอยากรู้เกี่ยวกับผู้หญิงอาชีพพิเศษนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างไรกันเเน่ จึงลงมือทำสารคดีเรื่องนี้เพื่อตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย

โสเภณีอาชีพที่เก่าแก่…
“โสเภณี”เป็นปรากฏการณ์ที่มีมาช้านานในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ในวัฒนธรรมกรีก-โรมันโบราณ มีประเพณีพลีพรหมจรรย์บูชาเทพเจ้า ซึ่งหญิงที่เลื่อมใสศรัทธาต่อศาสนาก็จะยอมพลีกายให้ชายแปลกหน้าในวิหารหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมต่างๆ และบริจาคเงินที่ได้จากชายผู้ร่วมประเวณีแก่เทพเจ้าไป

ในประเทศอินเดีย อาชีพโสเภณีก็มีมาก่อนครั้งพุทธกาล ในพระไตรปิฎก เรียกหญิงที่ให้บริการทางเพศว่า “โสภิณี” มาจากคำเต็มๆ ว่า “นครโสภิณี” แปลว่า หญิงงามประจำเมือง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่กษัตริย์แห่งแคว้นวัชชีเป็นผู้เริ่มพระราชทานให้เป็นครั้งแรก
หญิงผู้ได้รับตำแหน่งนี้นอกจากจะมีความงามเป็นเลิศแล้ว ยังต้องเป็นคนเฉลียวฉลาด มีความรอบรู้ในศาสตร์ทั้ง ๖๔ ประเภท เช่น นาฏศิลป์ คีตศิลป์ มีความรอบรู้ในการแต่งฉันท์ กาพย์ กลอน มีศิลปะในการเอาใจชาย ตลอดจนรอบรู้ในคัมภีร์กามสูตร ซึ่งเป็นศิลปะในการให้บริการทางเพศโดยตรง


สาเหตุที่หญิงผู้เพียบพร้อมต้องเป็นโสเภณี เพราะมีเจ้าชายและกษัตริย์จากแคว้นต่างๆ หมายปอง ต่างคนต่างแย่งชิงดีชิงเด่นกัน กษัตริย์ผู้ครองแคว้นเกรงว่าหญิงนั้นจะเป็นต้นเหตุแห่งการรบกัน จึงยกนางขึ้นเป็น “โสเภณี” หญิงงามประจำเมือง ไว้คอยต้อนรับเจ้าชายและกษัตริย์ต่างเมือง กล่าวกันว่าค่าตัวนางถึงครึ่งหนึ่งของราคาแคว้นกาสี


อีตัวสมัยอยุธยา

หญิงนครโสเภณีในเมืองไทยมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่มีใครทราบ แต่จากกฎหมายซึ่งตราไว้ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดี หรือพระเจ้าอู่ทอง ได้กล่าวถึงหญิงนครโสเภณีไว้บทหนึ่งว่า

“มาตราหนึ่ง ชายใดสู่ขอเอาหญิงคนขับคนรำเที่ยวขอทานเลี้ยงชีวิต แลหญิงนครโสเภณีมาเลี้ยงเป็นเมีย ทำชั่วเหนือผัวก็ดี…ผู้รู้ด้วยประการใด ๆ พิจารณาเป็นสัจไซ้ ท่านให้ผจานหญิงชายนั้นด้วยไถนา ส่วนหญิงอันร้ายให้เอาเฉลวปะหน้าทัดดอกฉบาทั้งสองหู ร้อยดอกกบาลเป็นมาไลยใส่ศีศะ ใส่คอ แล้วให้เอาหญิงนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง ชายชู้เข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง ผจานด้วยไถนาสามวัน …”

นี่ก็แสดงให้เห็นว่าหญิงนครโสเภณีหรือที่เรียกกันเล่นๆ ในสมัยนี้ว่า “อีตัว” มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย ซึ่งอาจมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้วก็ได้ แต่ยังหาหลักฐานที่จารึกไว้ไม่ได้

จากคำให้การ “ขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” เอกสารจากหอหลวง ได้กล่าวถึงหญิงนครโสเภณีในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา คือก่อนกรุงแตกเมื่อพ.ศ.๒๓๑๐ ว่า

“…ตลาดบ้านจีนปากคลองขุนละครไชย มีหญิงนครโสเภณีตั้งโรงอยู่ท้ายตลาด ๔ โรงรับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ ตลาดนี้เป็นตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือแลทางบก มีตึกกว้างร้านจีนมาก ขายของจีนมากกว่าของไทย มีศาลเจ้าจีนศาลหนึ่งอยู่ท้ายตลาด ๑…“

จากข้อความดังกล่าวแสดงให้ทราบว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หญิงนครโสเภณีก็อยู่ตามซ่องเหมือนสมัยนี้
เนื่องจากตลาดบ้านท่าจีนที่กล่าวถึงนี้ เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวจีนเช่นเดียวกับสำเพ็งสมัยรัตนโกสินทร์ จึงสันนิษฐานกันว่าหญิงนครโสเภณีนอกจากจะเป็นคนไทยแล้ว ยังเป็นคนจีนด้วย

คนจีนเรียกหญิงนครโสเภณีที่เป็นคนจีนว่า “หยำฉ่า”

อีสำเพ็ง

สำหรับโรงหญิงนครโสเภณีนั้น ในช่วงรัชกาลที่ ๔ จนกระทั่งถึงก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีมากมายแทบทุกตรอกทุกซอยโดยเฉพาะ “สำเพ็ง”
สำเพ็งเป็นย่านการค้ามาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวจีน ซึ่งนิยมการค้าขายเป็นอาชีพนั่นเอง
นอกจากจะเป็นย่านการค้าแล้วสำเพ็งยังเป็นย่านโสเภณีอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เขาจึงด่าผู้หญิงโสเภณีหรือผู้หญิงที่ประพฤติตัวไม่ดีว่า “อีสำเพ็ง”

โสเภณีที่สำเพ็งมีมาตั้งแต่ต้นๆ กรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ดังจะเห็นได้จากนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ซึ่งนั่งเรือแจวออกจากกรุงเทพฯ ผ่านสำเพ็งไปยังเมืองแกลงในสมัยรัชกาลที่ ๒ ว่า จนดึกดื่นแล้วยังได้ยินเสียงขับกล่อมของผู้หญิงหากินอยู่เลย

ตรอกเต๊า เป็นตรอกหนึ่งในย่านสำเพ็งที่ขึ้นชื่อลือชา เพราะโสเภณีที่ตรอกนี้จัดว่าดีกว่าตรอกอื่น โดยเฉพาะโรงของยายแฟง
สำหรับโรงยายแฟงนั้น ก่อตั้งโดยยายแฟงหรือเดิมชื่อยายโป๊ แกได้ตั้งเป็นโรงแม่เล้ามาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ แล้ว

เนื่องจากโรงของยายแฟงมีเด็กสาว หน้าตาน่าเอ็นดู และจัดห้องนอนตลอดจนถ้วยโถโอชามแบบผู้ดี หนุ่มๆ ที่มีเงินจึงชอบมาเที่ยวที่ซ่องของแกมากกว่าที่อื่นๆ แกจึงร่ำรวยเป็นเศรษฐีนีคนหนึ่ง และแกยังสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งที่ตรอกวัดโคกหรือวัดพลับพลาไชย เรียกว่า “วัดใหม่ยายแฟง” ต่อมาเรียกว่า “วัดคณิกาผล” ซึ่งแปลว่า วัดที่สร้างขึ้นอันเป็นผลมาจากโสเภณีนั่นเอง

ตรอกเว็จขี้ หรือตรอกอาจม ตรอกนี้ส่วนใหญ่เป็นโสเภณีคนจีน อยู่กันเป็นห้องแถวเล็กๆ ในตรอกนี้โรงแม่ทิมมีชื่อมากกว่าตรอกอื่นๆ โสเภณีในตรอกนี้จัดว่าเป็นโรงชั้นต่ำ มีแต่คนจีนยากจนที่มีอาชีพแบกหามประเภทหาเช้ากินค่ำมาเที่ยวกัน

โสเภณีตามโรงหรือซ่อง ที่ได้กล่าวมาข้างต้น บางโรงหากเจ้าของเป็นคนจีนก็จะหัดให้เล่นงิ้ว ถ้าเจ้าของเป็นคนไทยก็จะหัดมโหรี และหัดให้เล่นลิเกก็มี

การแต่งตัวของหญิงโสเภณีสมัยนั้นก็แต่งเหมือนกับชาวบ้านทั่วไป คือไว้ผมดัด ถ้าไม่ผลัดหน้าก็ประแป้งให้หน้าขาวๆ แล้วก็ใส่น้ำอบไทยหอมฟุ้ง บางคนก็กินหมากเสียจนปากแดง การแต่งกายนุ่งผ้าลายหรือผ้าโจงกระเบน ห่มผ้าสไบเฉียงหรือห่มรัดนม บางคนก็ใส่เสื้อแขนกุด อายุของหญิงโสเภณีเหล่านี้อยู่ในราว ๑๗-๑๘ ปี

หญิงโสเภณีเหล่านี้ พอตกค่ำก็จะแต่งตัวออกมานั่งหน้าห้องกัน แต่บางแห่งก็มายืนรับแขกกันที่ถนน และบางแห่งถึงกับออกมาฉุดแขกเอาเลยทีเดียว
เมื่อแขกเลือกได้แล้ว ทั้งคู่ก็จะพากันขึ้นห้อง ซึ่งห้องนั้นถ้าเป็นโรงชั้นดีก็มีที่นอนหมอนมุ้ง แต่ถ้าเป็นชั้นเลวก็มีแต่เสื่ออย่างเดียว และเมื่อเสร็จธุระแล้วก็จ่ายเงินให้กับสาวที่พาขึ้นห้องโดยไม่ต้องจ่ายให้กับแม่เล้า เพราะแม่เล้าไม่ค่อยออกหน้าออกตา แม้แต่แมงดาก็มีน้อยไม่ค่อยมายุ่งเหมือนสมัยนี้
พูดถึงโรคภัยไข้เจ็บที่ได้จากการไปเที่ยวโสเภณี ปรากฏว่าคนสมัยนั้นเป็นกามโรคกันมาก เพราะไม่มียาที่รักษาหายชะงัดเหมือนปัจจุบัน เป็นกันทีต้องต้มยากินเป็นหม้อๆ โรคก็ไม่หายกลายเป็นเรื้อรัง และยังนำโรคไปติดภรรยาอีกด้วย นับว่าเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงมากโรคหนึ่งในสมัยนั้น
ตามสถิติเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๖ ของกรมสุขาภิบาลกระทรวงมหาดไทยปรากฏว่า ผู้ชายในพระนครเป็นกามโรคกันถึงร้อยละ ๗๕ เลยทีเดียว




หญิงโคมเขียวตีทะเบียน


เมื่อปลายรัชกาลที่ ๕ ตามซ่องหรือโรงโสเภณีจะมีโคมสีเขียวแขวนไว้ทุกโรง เพื่อบอกให้รู้ว่าเป็น“โรงโสเภณี”
ทั้งนี้เพราะพระราชบัญญัติป้องกันโรคสัญจรโรค รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๑) ตอนหนึ่งมีความว่า “ต้องมีโคมแขวนไว้หน้าโรงเป็นเครื่องหมาย…” เพื่อง่ายต่อการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องเป็นโคมสีอะไร แต่สันนิษฐานว่าที่ใช้ “โคมสีเขียว” เพราะเจ้าหน้าที่ใช้โคมที่ทำจากกระจกสีเขียวเป็นโคมตัวอย่าง โคมแขวนดังกล่าวจึงเป็นสีเขียวเหมือนกันหมด

ชาวบ้านจึงเรียกโรงหญิงนครโสเภณีในสมัยนั้นว่า “โรงโคมเขียว” และเรียกหญิงนครโสเภณีว่า “หญิงโคมเขียว” ตามลักษณะโคมที่แขวน

กฎหมายฉบับนี้กำหนดรายละเอียดอีกว่า ผู้ที่จะเป็นนายโรงหญิงนครโสเภณีได้ ต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น และต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานก่อนจึงจะตั้งโรงหญิงนครโสเภณีได้ นายโรงต้องทำบัญชีหญิงโสเภณีที่มีอยู่ประจำและเข้ามาอยู่ใหม่
อีกทั้ง ห้าม รับหญิงที่ไม่มีใบอนุญาต และเด็กหญิงที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีมาไว้ในโรง ห้ามกักขังและทำสัญญาผูกมัดหญิงนครโสเภณี ตลอดจนห้ามไม่ให้ล่อลวงหญิงที่ไม่สมัครใจเป็นหญิงนครโสเภณีอีกด้วย

กฎหมายฉบับนี้ถือว่าอาชีพขายบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย ทำให้ประเทศไทยมีโสเภณีตีทะเบียนขึ้นเป็นครั้งแรก
ในเวลาต่อมาเนื่องจากสภาพการณ์ทางสังคมของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาการขายบริการทางเพศทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับกระแสการต่อต้านการค้าหญิงและเด็กขององค์การสหประชาชาติ กฎหมายฉบับดังกล่าวจึงถูกยกเลิกในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัช เป็นนายกรัฐมนตรี และเปลี่ยนมาใช้ “พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๐๓ แทนจนถึงปัจจุบัน



สยามเมืองเซ็กส์

ตั้งแต่มีพระราชบัญญัติดังกล่าว ทำให้การขายบริการทางเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เจ้าของสถานบริการ รวมทั้งตัวผู้ขายบริการเองต้องประกอบอาชีพอย่างปิดบังซ่อนเร้น เป็นเหตุให้มีการพัฒนารูปแบบการบริการทางเพศในลักษณะแอบแฝง ในรูปแบบต่างๆ เช่น อาบอบนวด โรงแรม บังกะโล บาร์เบียร์ นางทางโทรศัพท์ เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ

จากข้อมูลการสำรวจสถานบริการทางเพศและจำนวนผู้ให้บริการทางเพศในช่วง ๑ – ๓ มกราคม ๒๕๔๑ ของกองกามโรค พบว่ามีจำนวนสถานบริการทางเพศทั่วประเทศ ๘,๐๑๖ แห่ง (โดยพิจารณาสถานบริการว่ามีห้องให้สำหรับบริการทางเพศหรือไม่) จำนวนผู้ให้บริการทางเพศ ๖๑,๑๓๕ คน แยกเป็นเพศหญิง ๖๑,๑๓๕ เพศชาย ๒,๘๐๖ คน

ผู้หญิงที่ขายบริการทางเพศมีทั้งที่อายุน้อยมากคือ ๑๒ ปี และที่อายุมากจนไม่คิดว่าจะอยู่ในอาชีพนี้ได้คือ ๕๓ ปี อย่างไรก็ตามโดยเฉลี่ยแล้วหญิงบริการที่ทำงานในสำนักโสเภณีมีอายุเฉลี่ยประมาณ ๒๑ – ๒๒ ปี (ภัสสร ลิมานนท์ และคณะ, ๒๕๓๖)

หญิงบริการส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย งานวิจัยหลายชิ้นให้ผลตรงกันว่าหญิงบริการส่วนมากมีการศึกษาระดับประถมศึกษา อย่างไรก็ตามพบหญิงบริการกลุ่มแฝงจำนวนไม่น้อยที่มีการศึกษาสูงกล่าวคือมีทั้งระดับมัธยมศึกษา ประโยควิชาชีพขั้นต้น ประโยควิชาชีพชั้นสูง และปริญญาตรี รวมทั้งยังเป็นนักเรียนและนักศึกษาอยู่

หญิงที่เข้าสู่อาชีพนี้ส่วนใหญ่แล้วหญิงมักจะผิดหวังในเรื่องความรัก มีชีวิตคู่ที่ล้มเหลว หญิงสาวเหล่านี้ล้วนเคยประสบความเจ็บปวดในเรื่องนี้มาแล้วทั้งนั้น ซึ่งมีที่มาจากทุกภาคของประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะมาจากภาคเหนือมากที่สุด รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้น้อยที่สุด(สิรินุช เพียรเจริญ, ๒๕๓๘)






สัมผัสชีวิตจริงหมอนวด

ไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน โสเภณีก็ยังเป็นอาชีพที่ถูกดูหมิ่นดูแคลน คนทั่วไปมักมองว่าโสเภณีเป็นปัญหาของสังคม เพราะประกอบอาชีพที่ผิดศีลธรรม แพร่เชื้อกามโรค และทำลายภาพพจน์ของประเทศชาติ แต่มุมมองเช่นนี้อาจไม่เป็นธรรมแก่พวกเธอนัก ซึ่งทางกองหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยได้สัมภาษณ์โสเภณีผู้หนึ่งถึงเหตุผลของการเข้าสู่อาชีพนี้

พิม อายุ ๓๙ ปี เป็นคนจังหวัดเพชรบูรณ์ เธอเล่าว่า หลังจากสามีเสียในปี ๒๕๒๓ ทำให้ภาระเลี้ยงลูกทั้งสองคนจึงตกเป็นของเธอเพียงผู้เดียว เธอจึงตัดสินใจมาทำงานอยู่กรุงเทพฯ ด้วยการศึกษาแค่ชั้นป.๖ เธอจึงทำงานรับจ้างทั่วไปมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี ๒๕๔๙ มีเพื่อนแนะนำให้มาทำหมอนวด เธอจึงลาออกจากที่เดิม

โดยตอนแรกเขาก็จะให้เรียนนวดเพื่อรับใบประกาศวิชาชีพหมอนวด จากนั้น “แม่เล้า” ก็เริ่มให้ทำงาน โดยอัตราการซื้อขายขั้นต่ำต้องใช้บริการ ๒ ชั่วโมง ขึ้นไป ชั่วโมงละ ๒๐๐ บาท ชั่วโมงต่อไป ๑๐๐ บาท แต่ถ้าออฟจะคิดค่าห้องเพิ่ม ๒๐๐ บาท แต่ถ้าออฟข้างนอกเรื่องราคาขึ้นอยู่กับการตกลง

ในเรื่องของสุขภพอนามัยจะมีคนของกระทรวงสาธารณสุขมาตรวจโรคให้ทุกๆ ปี แต่เธอก็ป้องกันทุกครั้งที่มีอะไรกับลูกค้าโดยการใส่ถุงยาง

พิมยังบอกอีกว่า “อยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งนะ อยากเรียนหนังสือให้จบ เรียนให้สูงๆ อยากทำงานดีๆ งานที่ได้เงินเยอะๆ จะได้เลี้ยงลูกด้วยความรู้สึกสบายใจกว่านี้ มันอึดอัดนะบางที เราเป็นผู้หญิงอยากใช้ชีวิตแบบปกติ มีครอบครัว พ่อแม่ลูก แต่ที่อยากให้เป็นมากที่สุด คือ อยากให้สามีอยู่กับเราไปจนแก่”

อีกหนึ่งชีวิตโสเภณีที่ยังคงเดินทางต่อไป….













พระจันทร์กับเด็กน้อย


หนูน้อยกับพระจันทร์


พระจันทร์กลมโตสีเหลืองสุกใส มองทีไรสุกใจเป็นยิ่งนัก
จนเด็กน้อยผู้หนึ่งเกิดหลงรัก ทำอย่างไรถึงจักได้ครอบครอง

เด็กน้อยวิ่งตามจนเหนื่อยล้า พลางมองฟ้ามองจันทร์อย่างจดจ้อง

น้ำตาไหลร้องไห้แม่หันมอง ขาทั้งสองบวมช้ำจันทร์ใจร้าย


ที่ไม่ห้ามเพราะแม่อยากให้เจ้ารู้ พระจันทร์อยู่บนฟ้านั้นเฉิดฉาย

เหตุใดเจ้าจึงอยากได้แนบกาย ของทั้งหลายมันควรอยู่ที่ของมัน


ได้ฟังดังนั้นเด็กน้อยจึงคิดได้ หากเอาไว้เป็นของตนคนเดียวนั้น

คนอื่นจะชื่นชมได้อย่างไรกัน ควรปล่อยจันทร์อยู่คู่ฟ้าตลอดไป

วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เกาะล้าน : ทะเลสวย น้ำใส ใกล้กรุงเทพ

มีไม่กี่ร้อยก็เที่ยวเกาะล้านได้....
…มีงบจำกัดแต่อยากเที่ยวเกาะที่ทะเลสวยๆ น้ำใสๆ ทรายขาวๆ และไม่ไกลจากกรุงเทพฯ จะไปที่ไหนดีนะ?

แบกเป้ตามเราไปตะลุย “เกาะล้าน” ที่พัทยากันค่ะ ตอนแรกที่รู้ว่าอยู่พัทยา ผู้เขียนก็ชักไม่แน่ใจว่าจะสวยตามสรรพคุณที่เพื่อนแนะนำหรือไม่ แต่พอมาสัมผัสจริงๆ ก็อยากจะไปอยู่เรื่อยๆ ไม่รู้สึกเบื่อ



เกาะล้านเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติมานานแล้วทั้งฝรั่ง แขก เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ฯ เพราะอยู่ใกล้กับพัทยามาก ตามเกาะมีหาดทรายสีขาวละเอียด น้ำทะเลใสสีมรกตรับกับท้องฟ้าสีครามอย่างลงตัว ใครๆ เห็นแล้วก็คงอดใจไม่ไหวที่ลงเล่นน้ำ

การเดินทางจะเป็นแบบเช้า-เย็นกลับ หรือจะพักรีสอร์ตที่นั่นก็มีให้เลือกหลากหลาย แต่ถ้าใครจะมาแค่เล่นน้ำแล้วกลับไปพักที่พัทยาก็ได้



โดยเริ่มจากศูนย์กันที่คิวรถตู้ไปพัทยาที่อนุสาวรีย์ ซึ่งมีตั้งแต่ ซึ่งมีตั้งแต่ 06.00-20.00 น. แนะนำว่าควรไปตั้งแต่เช้าๆ ค่าโดยสารเพียง 150 บาท บอกคนขับว่าขอลงท่าเรือแหลมบาลีฮาย(Balihai) นั่งประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นก็นั่งเรือข้ามฟาก 20 บาท ประมาณ 45 นาทีเพียงเท่านี้คุณก็มาถึงเกาะล้านแล้ว



หาดตาแหวนเป็นหาดแรกที่คุณจะได้สัมผัสหลังลงจากเรือ ซึ่งเป็นหาดที่บรรยากาศครึกครื้นที่สุดกิจกรรมที่เกาะนี้ก็มีหลากหลาย ทั้งขับเจ็ทสกี เล่นเรือกล้วยหรือบานานาโบ้ท ดำน้ำดูปะการัง หรือจะเล่นแค่เกาะห่วงยางก็สนุกแล้ว และอีกกิจกรรมที่ฝรั่งชอบกันคือการนอนกลางทรายให้แดดโลมเลียผิวกาย ส่วนเราขอนอนหลบแดดจิบน้ำส้มเย็นๆ อยู่ใต้ร่มซึ่งคิดบริการเพียง 20 บาท




แม้กิจกรรมจะมีหลากหลาย ก็ไม่ต้องกลัวว่าเล่นน้ำอยู่ดีๆ จะโดนเจ็ทสกีเสยหัวหลุด เพราะหาดนี้จะมีทุ่นคอยกั้นไม่ให้เรือ เจ็สกี หรือบานาโบทเข้ามา ในส่วนที่เล่นน้ำ





หลังจากดูสาวๆ สวยๆ สวมบิกินนีสีสันสดสวยเพิ่มชีวิตชีวาให้กับหาดแล้ว ท้องก็ชักจะเริ่มหิว ซึ่งหาดตาแหวนนี้ก็มีบริการครบครัน อาหารทะเลสดๆ รสชาติอร่อย แต่เรื่องราคานั้นก็ถือว่าค่อนข้างแพงอยู่ เหลือบดูเมนูก็มีแต่อย่างละร้อยกว่าบาท กินทีก็กินอย่างเดียวไม่เป็นด้วยสิ แล้วจะทำไงดี?




ไม่ต้องกังวลแต่อย่างใดของดีเกาะล้านยังมีอีกเยอะ เพราะที่นี่มีหาดอีกหลายหาดที่สวยงามไม่แพ้กันมองซ้ายแลขวาหาวินมอเตอร์ไซค์ดีกว่า เพราะเขาชำนาญเส้นทางดี สำหรับค่าบริการ 20-50 บาทแล้วแต่ระยะทาง แต่หากคุณขับขี่รถเตอร์ไซค์เป็นที่นี่ก็มีให้เช่าค่ะ ราคา 250 บาทต่อวันต่อคัน จะไปกันกี่คนก็ได้แล้วแต่ความสามารถของคนขับ แถมน้ำมันเต็มถังให้อีกด้วย






ตลอดการขับขี่ในถนนที่ทำด้วยอิฐตัวหนอนตลอดเส้นทาง ซึ่งขึ้นเนินสูงบ้าง ลงเนินต่ำบ้าง สร้างความสนุกสนานและตื่นเต้นให้กับชีวิตวัยรุ่นอย่างมากเลยทีเดียว
ขับเตร็ดเตร่ไปตามเส้นทางสักพัก ไม่นานนักมอเตอร์ไซค์คันโก้ก็พาเรามาถึงชุมชนแห่งหนึ่งเรียกว่า “ท่าเรือหน้าบ้าน” ที่นี่มีที่พักเยอะมาก แต่ท่านี้เล่นน้ำไม่ได้เพราะไม่มีหาด แต่น้ำก็ใสเหมือนกัน แต่ข้อดีของที่นี่คือหาของกินง่ายและอร่อยด้วย ราคาก็เท่ากับตลาดทั่วไป แถมยังมีเซเวนเพิ่มความสะดวกสบายให้กับคุณอีกด้วย








พอหนังท้องตึง หนังตาก็หาได้หย่อนไม่ เพราะยังมีอีกหลายหาดสวยๆ ในเกาะนี้ที่รอเราไปเยี่ยมเยือนอยู่
สำหรับผู้รักความสงบ อยากหนีความวุ่นวาย ก็แวะมาพักผ่อนหย่อนใจที่หาดนวลได้ แม้หาดทรายจะไม่สวยเหมือนหาดอื่นๆ แต่ความเป็นธรรมชาตินั้นมีมากกว่า เพราะนักท่องเที่ยวไม่ค่อยเยอะ หลังจากเดินถ่ายรูปกินลมชมวิวสักพัก ก็ไปสะดุดกับม้านั่งสีขาวริมหาดใต้ต้นไม้ใหญ่จนอดไม่ได้ที่จะไปหย่อนก้น สูดอากาศบริสุทธิ์ให้ซาบซ่านไปทุกอณูขุมขน พอสบายอารมณ์แล้วก็เดินทางต่อไปยังหาดอื่นต่อ






ไม่นานนักเสียงมอเตอร์ไซค์ก็ดังขึ้น พร้อมสำหรับการมุ่งหน้าไปหาดแสมซึ่งชาวบ้านแถวนี้บอกว่าเป็นหาดที่สวยที่สุดอยู่ทางฟากตะวันตกของเกาะล้าน

ย่างเข้าตอนบ่ายแล้ว แสงแดดที่ร้อนจ้าก็ถูกกลบด้วยลมทะเลจนผู้เขียนลืมดำไปเลยทีเดียว พอมาถึงก็เหมือนต้องมนต์สเน่ห์ตั้งแต่ทางเลี้ยวเข้า ลั่นทมสีขาวแข่งกันกันอวดโฉมเรียงรายจนถึงหาด แหล่งบริการอาหารการกินและห้องน้ำสะดวกสบายเหมือนหาดตาแหวน แต่สิ่งที่ไม่เหมือนคือความเงียบสงบ ไม่มีเจ็ทสกี ไม่มีเรือทั้งหลายมากวนใจ


ชื่นชมความงามมาสักพัก ก็ถึงเวลาต้องกลับแล้ว เพราะนี่ก็จะสี่โมงเย็นแล้ว แต่ก่อนอื่นก็ต้องแว้นท์มอเตอร์ไซค์ที่เช่าไปส่งคืนที่หาดตาแหวน ก่อนขึ้นเรือข้ามฟาก และนั่งรถตู้กลับกรุงเทพ
รอก่อนนะเกาะล้าน แล้วเราจะมาเยี่ยมเธออีก ….