วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การเดินทางของโสเภณี







การเดินทางของโสเภณี
"Tom Tom Where you go last night. I love เมืองไทย I like พัฒน์พงษ์ น้องนางคงทำให้ทอมลุมหลง I love พัฒน์พงษ์ I love เมืองไทย" เสียงเพลงของคารบาวครวญมาตามคลื่นวิทยุ ทำให้ฉันเกิดอยากรู้เกี่ยวกับผู้หญิงอาชีพพิเศษนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างไรกันเเน่ จึงลงมือทำสารคดีเรื่องนี้เพื่อตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย

โสเภณีอาชีพที่เก่าแก่…
“โสเภณี”เป็นปรากฏการณ์ที่มีมาช้านานในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ในวัฒนธรรมกรีก-โรมันโบราณ มีประเพณีพลีพรหมจรรย์บูชาเทพเจ้า ซึ่งหญิงที่เลื่อมใสศรัทธาต่อศาสนาก็จะยอมพลีกายให้ชายแปลกหน้าในวิหารหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมต่างๆ และบริจาคเงินที่ได้จากชายผู้ร่วมประเวณีแก่เทพเจ้าไป

ในประเทศอินเดีย อาชีพโสเภณีก็มีมาก่อนครั้งพุทธกาล ในพระไตรปิฎก เรียกหญิงที่ให้บริการทางเพศว่า “โสภิณี” มาจากคำเต็มๆ ว่า “นครโสภิณี” แปลว่า หญิงงามประจำเมือง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่กษัตริย์แห่งแคว้นวัชชีเป็นผู้เริ่มพระราชทานให้เป็นครั้งแรก
หญิงผู้ได้รับตำแหน่งนี้นอกจากจะมีความงามเป็นเลิศแล้ว ยังต้องเป็นคนเฉลียวฉลาด มีความรอบรู้ในศาสตร์ทั้ง ๖๔ ประเภท เช่น นาฏศิลป์ คีตศิลป์ มีความรอบรู้ในการแต่งฉันท์ กาพย์ กลอน มีศิลปะในการเอาใจชาย ตลอดจนรอบรู้ในคัมภีร์กามสูตร ซึ่งเป็นศิลปะในการให้บริการทางเพศโดยตรง


สาเหตุที่หญิงผู้เพียบพร้อมต้องเป็นโสเภณี เพราะมีเจ้าชายและกษัตริย์จากแคว้นต่างๆ หมายปอง ต่างคนต่างแย่งชิงดีชิงเด่นกัน กษัตริย์ผู้ครองแคว้นเกรงว่าหญิงนั้นจะเป็นต้นเหตุแห่งการรบกัน จึงยกนางขึ้นเป็น “โสเภณี” หญิงงามประจำเมือง ไว้คอยต้อนรับเจ้าชายและกษัตริย์ต่างเมือง กล่าวกันว่าค่าตัวนางถึงครึ่งหนึ่งของราคาแคว้นกาสี


อีตัวสมัยอยุธยา

หญิงนครโสเภณีในเมืองไทยมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่มีใครทราบ แต่จากกฎหมายซึ่งตราไว้ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดี หรือพระเจ้าอู่ทอง ได้กล่าวถึงหญิงนครโสเภณีไว้บทหนึ่งว่า

“มาตราหนึ่ง ชายใดสู่ขอเอาหญิงคนขับคนรำเที่ยวขอทานเลี้ยงชีวิต แลหญิงนครโสเภณีมาเลี้ยงเป็นเมีย ทำชั่วเหนือผัวก็ดี…ผู้รู้ด้วยประการใด ๆ พิจารณาเป็นสัจไซ้ ท่านให้ผจานหญิงชายนั้นด้วยไถนา ส่วนหญิงอันร้ายให้เอาเฉลวปะหน้าทัดดอกฉบาทั้งสองหู ร้อยดอกกบาลเป็นมาไลยใส่ศีศะ ใส่คอ แล้วให้เอาหญิงนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง ชายชู้เข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง ผจานด้วยไถนาสามวัน …”

นี่ก็แสดงให้เห็นว่าหญิงนครโสเภณีหรือที่เรียกกันเล่นๆ ในสมัยนี้ว่า “อีตัว” มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย ซึ่งอาจมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้วก็ได้ แต่ยังหาหลักฐานที่จารึกไว้ไม่ได้

จากคำให้การ “ขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” เอกสารจากหอหลวง ได้กล่าวถึงหญิงนครโสเภณีในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา คือก่อนกรุงแตกเมื่อพ.ศ.๒๓๑๐ ว่า

“…ตลาดบ้านจีนปากคลองขุนละครไชย มีหญิงนครโสเภณีตั้งโรงอยู่ท้ายตลาด ๔ โรงรับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ ตลาดนี้เป็นตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือแลทางบก มีตึกกว้างร้านจีนมาก ขายของจีนมากกว่าของไทย มีศาลเจ้าจีนศาลหนึ่งอยู่ท้ายตลาด ๑…“

จากข้อความดังกล่าวแสดงให้ทราบว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หญิงนครโสเภณีก็อยู่ตามซ่องเหมือนสมัยนี้
เนื่องจากตลาดบ้านท่าจีนที่กล่าวถึงนี้ เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวจีนเช่นเดียวกับสำเพ็งสมัยรัตนโกสินทร์ จึงสันนิษฐานกันว่าหญิงนครโสเภณีนอกจากจะเป็นคนไทยแล้ว ยังเป็นคนจีนด้วย

คนจีนเรียกหญิงนครโสเภณีที่เป็นคนจีนว่า “หยำฉ่า”

อีสำเพ็ง

สำหรับโรงหญิงนครโสเภณีนั้น ในช่วงรัชกาลที่ ๔ จนกระทั่งถึงก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีมากมายแทบทุกตรอกทุกซอยโดยเฉพาะ “สำเพ็ง”
สำเพ็งเป็นย่านการค้ามาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวจีน ซึ่งนิยมการค้าขายเป็นอาชีพนั่นเอง
นอกจากจะเป็นย่านการค้าแล้วสำเพ็งยังเป็นย่านโสเภณีอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เขาจึงด่าผู้หญิงโสเภณีหรือผู้หญิงที่ประพฤติตัวไม่ดีว่า “อีสำเพ็ง”

โสเภณีที่สำเพ็งมีมาตั้งแต่ต้นๆ กรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ดังจะเห็นได้จากนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ซึ่งนั่งเรือแจวออกจากกรุงเทพฯ ผ่านสำเพ็งไปยังเมืองแกลงในสมัยรัชกาลที่ ๒ ว่า จนดึกดื่นแล้วยังได้ยินเสียงขับกล่อมของผู้หญิงหากินอยู่เลย

ตรอกเต๊า เป็นตรอกหนึ่งในย่านสำเพ็งที่ขึ้นชื่อลือชา เพราะโสเภณีที่ตรอกนี้จัดว่าดีกว่าตรอกอื่น โดยเฉพาะโรงของยายแฟง
สำหรับโรงยายแฟงนั้น ก่อตั้งโดยยายแฟงหรือเดิมชื่อยายโป๊ แกได้ตั้งเป็นโรงแม่เล้ามาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ แล้ว

เนื่องจากโรงของยายแฟงมีเด็กสาว หน้าตาน่าเอ็นดู และจัดห้องนอนตลอดจนถ้วยโถโอชามแบบผู้ดี หนุ่มๆ ที่มีเงินจึงชอบมาเที่ยวที่ซ่องของแกมากกว่าที่อื่นๆ แกจึงร่ำรวยเป็นเศรษฐีนีคนหนึ่ง และแกยังสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งที่ตรอกวัดโคกหรือวัดพลับพลาไชย เรียกว่า “วัดใหม่ยายแฟง” ต่อมาเรียกว่า “วัดคณิกาผล” ซึ่งแปลว่า วัดที่สร้างขึ้นอันเป็นผลมาจากโสเภณีนั่นเอง

ตรอกเว็จขี้ หรือตรอกอาจม ตรอกนี้ส่วนใหญ่เป็นโสเภณีคนจีน อยู่กันเป็นห้องแถวเล็กๆ ในตรอกนี้โรงแม่ทิมมีชื่อมากกว่าตรอกอื่นๆ โสเภณีในตรอกนี้จัดว่าเป็นโรงชั้นต่ำ มีแต่คนจีนยากจนที่มีอาชีพแบกหามประเภทหาเช้ากินค่ำมาเที่ยวกัน

โสเภณีตามโรงหรือซ่อง ที่ได้กล่าวมาข้างต้น บางโรงหากเจ้าของเป็นคนจีนก็จะหัดให้เล่นงิ้ว ถ้าเจ้าของเป็นคนไทยก็จะหัดมโหรี และหัดให้เล่นลิเกก็มี

การแต่งตัวของหญิงโสเภณีสมัยนั้นก็แต่งเหมือนกับชาวบ้านทั่วไป คือไว้ผมดัด ถ้าไม่ผลัดหน้าก็ประแป้งให้หน้าขาวๆ แล้วก็ใส่น้ำอบไทยหอมฟุ้ง บางคนก็กินหมากเสียจนปากแดง การแต่งกายนุ่งผ้าลายหรือผ้าโจงกระเบน ห่มผ้าสไบเฉียงหรือห่มรัดนม บางคนก็ใส่เสื้อแขนกุด อายุของหญิงโสเภณีเหล่านี้อยู่ในราว ๑๗-๑๘ ปี

หญิงโสเภณีเหล่านี้ พอตกค่ำก็จะแต่งตัวออกมานั่งหน้าห้องกัน แต่บางแห่งก็มายืนรับแขกกันที่ถนน และบางแห่งถึงกับออกมาฉุดแขกเอาเลยทีเดียว
เมื่อแขกเลือกได้แล้ว ทั้งคู่ก็จะพากันขึ้นห้อง ซึ่งห้องนั้นถ้าเป็นโรงชั้นดีก็มีที่นอนหมอนมุ้ง แต่ถ้าเป็นชั้นเลวก็มีแต่เสื่ออย่างเดียว และเมื่อเสร็จธุระแล้วก็จ่ายเงินให้กับสาวที่พาขึ้นห้องโดยไม่ต้องจ่ายให้กับแม่เล้า เพราะแม่เล้าไม่ค่อยออกหน้าออกตา แม้แต่แมงดาก็มีน้อยไม่ค่อยมายุ่งเหมือนสมัยนี้
พูดถึงโรคภัยไข้เจ็บที่ได้จากการไปเที่ยวโสเภณี ปรากฏว่าคนสมัยนั้นเป็นกามโรคกันมาก เพราะไม่มียาที่รักษาหายชะงัดเหมือนปัจจุบัน เป็นกันทีต้องต้มยากินเป็นหม้อๆ โรคก็ไม่หายกลายเป็นเรื้อรัง และยังนำโรคไปติดภรรยาอีกด้วย นับว่าเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงมากโรคหนึ่งในสมัยนั้น
ตามสถิติเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๖ ของกรมสุขาภิบาลกระทรวงมหาดไทยปรากฏว่า ผู้ชายในพระนครเป็นกามโรคกันถึงร้อยละ ๗๕ เลยทีเดียว




หญิงโคมเขียวตีทะเบียน


เมื่อปลายรัชกาลที่ ๕ ตามซ่องหรือโรงโสเภณีจะมีโคมสีเขียวแขวนไว้ทุกโรง เพื่อบอกให้รู้ว่าเป็น“โรงโสเภณี”
ทั้งนี้เพราะพระราชบัญญัติป้องกันโรคสัญจรโรค รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๑) ตอนหนึ่งมีความว่า “ต้องมีโคมแขวนไว้หน้าโรงเป็นเครื่องหมาย…” เพื่อง่ายต่อการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องเป็นโคมสีอะไร แต่สันนิษฐานว่าที่ใช้ “โคมสีเขียว” เพราะเจ้าหน้าที่ใช้โคมที่ทำจากกระจกสีเขียวเป็นโคมตัวอย่าง โคมแขวนดังกล่าวจึงเป็นสีเขียวเหมือนกันหมด

ชาวบ้านจึงเรียกโรงหญิงนครโสเภณีในสมัยนั้นว่า “โรงโคมเขียว” และเรียกหญิงนครโสเภณีว่า “หญิงโคมเขียว” ตามลักษณะโคมที่แขวน

กฎหมายฉบับนี้กำหนดรายละเอียดอีกว่า ผู้ที่จะเป็นนายโรงหญิงนครโสเภณีได้ ต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น และต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานก่อนจึงจะตั้งโรงหญิงนครโสเภณีได้ นายโรงต้องทำบัญชีหญิงโสเภณีที่มีอยู่ประจำและเข้ามาอยู่ใหม่
อีกทั้ง ห้าม รับหญิงที่ไม่มีใบอนุญาต และเด็กหญิงที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีมาไว้ในโรง ห้ามกักขังและทำสัญญาผูกมัดหญิงนครโสเภณี ตลอดจนห้ามไม่ให้ล่อลวงหญิงที่ไม่สมัครใจเป็นหญิงนครโสเภณีอีกด้วย

กฎหมายฉบับนี้ถือว่าอาชีพขายบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย ทำให้ประเทศไทยมีโสเภณีตีทะเบียนขึ้นเป็นครั้งแรก
ในเวลาต่อมาเนื่องจากสภาพการณ์ทางสังคมของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาการขายบริการทางเพศทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับกระแสการต่อต้านการค้าหญิงและเด็กขององค์การสหประชาชาติ กฎหมายฉบับดังกล่าวจึงถูกยกเลิกในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัช เป็นนายกรัฐมนตรี และเปลี่ยนมาใช้ “พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๐๓ แทนจนถึงปัจจุบัน



สยามเมืองเซ็กส์

ตั้งแต่มีพระราชบัญญัติดังกล่าว ทำให้การขายบริการทางเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เจ้าของสถานบริการ รวมทั้งตัวผู้ขายบริการเองต้องประกอบอาชีพอย่างปิดบังซ่อนเร้น เป็นเหตุให้มีการพัฒนารูปแบบการบริการทางเพศในลักษณะแอบแฝง ในรูปแบบต่างๆ เช่น อาบอบนวด โรงแรม บังกะโล บาร์เบียร์ นางทางโทรศัพท์ เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ

จากข้อมูลการสำรวจสถานบริการทางเพศและจำนวนผู้ให้บริการทางเพศในช่วง ๑ – ๓ มกราคม ๒๕๔๑ ของกองกามโรค พบว่ามีจำนวนสถานบริการทางเพศทั่วประเทศ ๘,๐๑๖ แห่ง (โดยพิจารณาสถานบริการว่ามีห้องให้สำหรับบริการทางเพศหรือไม่) จำนวนผู้ให้บริการทางเพศ ๖๑,๑๓๕ คน แยกเป็นเพศหญิง ๖๑,๑๓๕ เพศชาย ๒,๘๐๖ คน

ผู้หญิงที่ขายบริการทางเพศมีทั้งที่อายุน้อยมากคือ ๑๒ ปี และที่อายุมากจนไม่คิดว่าจะอยู่ในอาชีพนี้ได้คือ ๕๓ ปี อย่างไรก็ตามโดยเฉลี่ยแล้วหญิงบริการที่ทำงานในสำนักโสเภณีมีอายุเฉลี่ยประมาณ ๒๑ – ๒๒ ปี (ภัสสร ลิมานนท์ และคณะ, ๒๕๓๖)

หญิงบริการส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย งานวิจัยหลายชิ้นให้ผลตรงกันว่าหญิงบริการส่วนมากมีการศึกษาระดับประถมศึกษา อย่างไรก็ตามพบหญิงบริการกลุ่มแฝงจำนวนไม่น้อยที่มีการศึกษาสูงกล่าวคือมีทั้งระดับมัธยมศึกษา ประโยควิชาชีพขั้นต้น ประโยควิชาชีพชั้นสูง และปริญญาตรี รวมทั้งยังเป็นนักเรียนและนักศึกษาอยู่

หญิงที่เข้าสู่อาชีพนี้ส่วนใหญ่แล้วหญิงมักจะผิดหวังในเรื่องความรัก มีชีวิตคู่ที่ล้มเหลว หญิงสาวเหล่านี้ล้วนเคยประสบความเจ็บปวดในเรื่องนี้มาแล้วทั้งนั้น ซึ่งมีที่มาจากทุกภาคของประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะมาจากภาคเหนือมากที่สุด รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้น้อยที่สุด(สิรินุช เพียรเจริญ, ๒๕๓๘)






สัมผัสชีวิตจริงหมอนวด

ไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน โสเภณีก็ยังเป็นอาชีพที่ถูกดูหมิ่นดูแคลน คนทั่วไปมักมองว่าโสเภณีเป็นปัญหาของสังคม เพราะประกอบอาชีพที่ผิดศีลธรรม แพร่เชื้อกามโรค และทำลายภาพพจน์ของประเทศชาติ แต่มุมมองเช่นนี้อาจไม่เป็นธรรมแก่พวกเธอนัก ซึ่งทางกองหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยได้สัมภาษณ์โสเภณีผู้หนึ่งถึงเหตุผลของการเข้าสู่อาชีพนี้

พิม อายุ ๓๙ ปี เป็นคนจังหวัดเพชรบูรณ์ เธอเล่าว่า หลังจากสามีเสียในปี ๒๕๒๓ ทำให้ภาระเลี้ยงลูกทั้งสองคนจึงตกเป็นของเธอเพียงผู้เดียว เธอจึงตัดสินใจมาทำงานอยู่กรุงเทพฯ ด้วยการศึกษาแค่ชั้นป.๖ เธอจึงทำงานรับจ้างทั่วไปมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี ๒๕๔๙ มีเพื่อนแนะนำให้มาทำหมอนวด เธอจึงลาออกจากที่เดิม

โดยตอนแรกเขาก็จะให้เรียนนวดเพื่อรับใบประกาศวิชาชีพหมอนวด จากนั้น “แม่เล้า” ก็เริ่มให้ทำงาน โดยอัตราการซื้อขายขั้นต่ำต้องใช้บริการ ๒ ชั่วโมง ขึ้นไป ชั่วโมงละ ๒๐๐ บาท ชั่วโมงต่อไป ๑๐๐ บาท แต่ถ้าออฟจะคิดค่าห้องเพิ่ม ๒๐๐ บาท แต่ถ้าออฟข้างนอกเรื่องราคาขึ้นอยู่กับการตกลง

ในเรื่องของสุขภพอนามัยจะมีคนของกระทรวงสาธารณสุขมาตรวจโรคให้ทุกๆ ปี แต่เธอก็ป้องกันทุกครั้งที่มีอะไรกับลูกค้าโดยการใส่ถุงยาง

พิมยังบอกอีกว่า “อยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งนะ อยากเรียนหนังสือให้จบ เรียนให้สูงๆ อยากทำงานดีๆ งานที่ได้เงินเยอะๆ จะได้เลี้ยงลูกด้วยความรู้สึกสบายใจกว่านี้ มันอึดอัดนะบางที เราเป็นผู้หญิงอยากใช้ชีวิตแบบปกติ มีครอบครัว พ่อแม่ลูก แต่ที่อยากให้เป็นมากที่สุด คือ อยากให้สามีอยู่กับเราไปจนแก่”

อีกหนึ่งชีวิตโสเภณีที่ยังคงเดินทางต่อไป….













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น